ในฐานะที่เป็นเด็กเกาะ มีโอกาสถ่ายภาพทะเลบ่อย ๆ ก็เลยขอนำเทคนิคการถ่ายภาพทะเลให้สวยมาฝากเพื่อน ๆ ครับ
เส้นขอบฟ้า
เมื่อถ่ายภาพทะเลสิ่งที่ต้องพึงระวังเป็นอย่างยิ่งก็คือเส้นขอบฟ้าครับ หลาย ๆ คนไม่ระมัดระวังตอนถ่ายภาพ พอรูปออกมา อ้าว ! เส้นขอบฟ้ามันเอียงซะ ดูแล้วมันไม่สบายตาเอาเสียเลย ดังนั้นก่อนถ่ายภาพทุกครั้งอย่าลืมสังเกตุเส้นขอบฟ้าให้ดีครับว่าอยู่ในแนวขนานหรือยัง มิเช่นนั้นภาพถ่ายของคุณจะทำให้โลกเอียง อิอิ
อีกอย่างหนึ่งคือตำแหน่งของเส้นขอบฟ้าในภาพ ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรจะอยู่กลางภาพ เพราะจะทำให้ภาพดูเหมือนถูกแบ่งเป็น 2 ท่อน หรือถ้าต้องการจะวางตำแหน่งเส้นขอบฟ้าไว้กลางภาพจริง ๆ ควรหาวัตถุที่วางคร่อมทั้งสองส่วนไว้เพื่อเป็นการเชื่อมทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน อาทิ ต้นไม้, เรือใบ เป็นต้น
การวัดแสง
การถ่ายภาพทะเลที่สวยนั้นต้องได้รับการวัดแสงที่ถูกต้อง สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องรูรับแสงคงจะไม่ยาก ให้พิจารณาว่าในภาพนั้นมีสัดส่วนของน้ำทะเลหรือหาดทรายมากหรือน้อย หากมีสัดส่วนของหาดทรายอยู่มาก ให้ตั้ง over ไว้สัก 1 stop เพราะหาดทรายสะท้อนแสงได้มาก ทำให้กล้องนึกว่ามีแสงเยอะ จะเปิดรับแสงน้อยทำให้ภาพมืดเกินไป จึงต้องชดเชยด้วยการรับแสง over 1 stop ในทางตรงข้ามถ้าสัดส่วนในภาพเป็นน้ำทะเลสีเข้มมาก ๆ ให้ตั้ง under ไว้ 1 stop เพื่อให้ภาพที่ได้ไม่ขาวซีดจนเกินไป อีกวิธีหนึ่งที่คำนวณแสงได้อย่างแม่นยำคือหันกล้องไปวัดแสงบริเวณที่เป็นต้นไม้หรือหญ้าเขียว ๆ แล้วใช้ค่าแสงนั้นในการถ่ายภาพได้เลย จะช่วยให้ได้แสงที่ถูกต้อง (หมายเหตุ ต้นไม้หรือหญ้าต้องอยู่ในสภาพแสงเดียวกับภาพที่จะถ่าย ไม่ใช่อยู่ในร่ม หรือสภาพแสงต่างกันโดยสิ้นเชิง)
ถ่ายภาพทะเลตอนพระอาทิตย์ตก
การถ่ายภาพทะเลตอนพระอาทิตย์ตกนั้น หลาย ๆคนเจอปัญหาภาพออกมาไม่สวยดั่งใจ ไม่เหมือนใน post card เพราะไม่เข้าใจเรื่องการวัดแสงนั่นเอง สำหรับการถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกให้สวยนั้นจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องเข้ามาช่วยโดยเฉพาะช่วงที่ฟ้าแดงหลังพระอาทิตย์ตกไปแล้ว เพราะกล้องจะต้องเปิดรับแสงนานกว่าปกติทำให้ต้องมีขาตั้งกล้องช่วยพยุงไม่ให้กล้องสั่นไหวนั่นเอง สำหรับเพื่อนๆ ที่ใช้ระบบอัตโนมัติสามารถถ่ายภาพพระอาทิตย์ให้ตกโดยใช้โหมด night scene ได้เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่จะเป็นสัญลักษณ์รูปดาวหรือพระจันทร์นั่นเอง
การถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกนั้นไม่จำเป็นต้องใช้แฟลช (ยกเว้นมีคน หรือวัตถุที่ต้องการให้ได้รับแสง) ทั้งนี้เราจะให้ฉากหน้าเป็นสีดำและฉากหลังเป็นแสงสีแดงของท้องฟ้า สำหรับการวัดแสงนั้นในกรณีที่พระอาทิตย์ยังไม่ตกให้วัดแสดงที่ท้องฟ้าข้าง ๆ พระอาทิตย์ (วัดแบบเฉพาะจุดนะครับเพื่อไม่ให้แสงพระอาทิตย์เข้ามามีผล) แต่ถ้าพระอาทิตย์ตกไปแล้วก็ให้วัดบริเวณที่พระอาทิตย์ตกได้เลยครับ ก็จะได้แสงที่พอดีสวยงาม แต่อย่างไรก็ตามให้ถ่ายภาพคร่อมไว้ over/under อย่างละภาพเพื่อเลือกภาพที่ดีที่สุดครับ
เทคนิคการควบคุมแสงให้ท้องฟ้าและน้ำเท่ากัน
ภาพนี้ถ่ายโดยไม่ได้ใช้เทคนิคจะเห็นว่าบริเวณน้ำด้านล่างมืดเกินไป ดูแล้วไม่สวย
เทคนิคนี้นำไปใช้ได้ทั้งการถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เนื่องจากช่างภาพหลายคนประสบปัญหาแสงในส่วนที่เป็นท้องฟ้ากับส่วนด้านล่าง (อาจจะเป็นน้ำทะเล, ทะเลหมอก, หรือพื้นดิน) ต่างกันมาก หากวัดแสงที่ท้องฟ้าพอดี พื้นที่ส่วนด้านล่างจะมืดสนิทไม่เห็นรายละเอียด แต่ถ้าวัดแสงด้านล่างพอดีท้องฟ้าก็จะขาวซีดไม่สวยงาม
สำหรับวิธีแก้ไขนั้นต้องใช้ฟิลเตอร์กราดูเอท (Graduate) ครึ่งเทา ซึ่งท่อนบนจะเป็นสีเทาท่อนล่างใส เมื่อใช้ติดหน้าเลนส์แล้วจะทำให้พื้นที่ส่วนบนได้รับสัดส่วนของแสงน้อยกว่าส่วนล่างในขณะถ่ายภาพ ซึ่งจะช่วยทำให้แสงทั้งสองส่วนออกมาใกล้เคียงกันมากยิ่งขึ้น แล้วถ้าไม่มีฟิลเตอร์ที่ว่าล่ะ!! ไม่ยากครับก็ใช้อะไรก็ได้ที่เป็นสีดำหรือถ้าไม่มีจริง ๆ ก็มือนั่นแหละปิดไว้ตามเวลาที่เหมาะสม (ทำงี้ได้ด้วยเหรอ !!!) ได้ครับแต่เงื่อนไขคือต้องเป็นการถ่ายภาพที่ใช้ขาตั้งกล้องและรับแสงค่อนข้างนาน (Shutter Speed นานกว่า 1 วินาที) เช่น วัดแสงที่ท้องฟ้าได้ f8 2 sec. วัดแสงที่พื้นได้ f8 4 sec ต่างกันอยู่ 2 วินาที ตอนถ่ายภาพเราก็นำวัตถุสีดำบังในส่วนท้องฟ้าไว้ 2 วินาทีแล้วค่อยเอาออก เราก็จะได้ภาพออกมาสวยงามสมใจครับ
ส่วนภาพนี้ใช้เทคนิคข้างต้นช่วย ทำให้ได้รายละเอียดทั้งสองส่วนครบถ้วนสวยงามครับ
ฟังดูแล้วเหมือนยากแต่ทำจริง ๆ แล้วไม่ยากครับ ผมเองก็ใช้เทคนิคนี้บ่อย ๆ โดยเฉพาะกับการถ่ายภาพทะเลหมอกตอนพระอาทิตย์ขึ้นครับ 🙂
เยี่ยมมากคะ