วันนี้ผมขอแนะนำ Filter (แผ่นกรองแสง) คู่ใจนักถ่ายภาพครับ มือใหม่ลองดูนะครับว่าตัวไหนที่เหมาะจะติดกระเป๋าคุณ
1. Skylight & UV
หลาย ๆ คนมักจะใช้ฟิลเตอร์ทั้งสองตัวนี้ติดเป็นประจำหน้ากล้อง เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนที่ตัวเลนส์ และรักษาไม่ให้ฝุ่นเข้าไปในกระบอกเลนส์จากทางด้านหน้า แต่ประโยชน์จริง ๆ (ตามที่เขาออกแบบมา) สำหรับ Skylight นั้นเพื่อแก้ไขโทนสีของเงาในภาพที่ถ่ายในวันแดดจัดซึ่งจะออกไปในโทนสีฟ้า ส่วน UV ใช้เพื่อปรับแก้โทนสีเมื่อถ่ายกลางแดดแล้วรังสี UV จะทำให้ภาพออกมาเป็นสีม่วง
ส่วนตัวผมแล้ว ผมจะไม่ใช้ฟิลเตอร์ทั้งสองตัวนี้ เพราะฟิลเตอร์จะทำให้คุณภาพของภาพที่ได้ลดลง เนื่องจากฟิลเตอร์เหล่านี้ (โดยเฉพาะที่ราคาถูก ๆ อันละ 100-200) มักจะไม่ได้เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนไว้ ทำให้มีการกระเจิงของแสงและส่งผลให้คุณภาพของภาพที่ได้ลดลง (ความจริงแล้วก็คงลดลงไม่มากครับ แต่ผมอยากได้งานที่ดีที่สุด) แต่สำหรับท่านที่ต้องการรักษาหน้าเลนส์จะติดไว้ก็ไม่เสียหาย แต่ควรเลือกแบบที่มีคุณภาพสูงสักหน่อยครับ
2. Polarizing Fiter (PL)
เป็นฟิลเตอร์ที่ผมใช้บ่อยมากครับ เนื่องจากมีประโยชน์หลายด้าน ฟิลเตอร์ตัวนี้ใช้สำหรับตัดแสงสะท้อนจากวัตถุที่เป็นอโลหะ เช่น ไม้, หิน, ใบไม้, ละอองน้ำบนท้องฟ้า เป็นต้น ซึ่งแสงสะท้อนดังกล่าวจะทำให้สีของภาพไม่อิ่มตัว ถ้าเพื่อน ๆ สังเกตุเห็นภาพที่เขาถ่ายมาโชว์แล้วฟ้าเข้ม ๆ, ใบไม้สีเขียวสด, โขดหินสีดำสนิท ภาพเหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้ฟิลเตอร์ PL นี่แหละครับ Filter PL นั้นมีสองแบบใหญ่ ๆ คือ Linear PL ใช้กับกล้องรุ่นเก่า ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็น Manual Focus และใช้ระบบวัดแสงแบบเดิม ๆ แต่ถ้าเป็นกล้องรุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบันต้องใช้กับ Circular PL ทั้งนี้เพื่อให้การวัดแสงถูกต้องแม่นยำครับ
ทั้งนี้ผลที่ได้จากฟิลเตอร์ตัวนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับทิศทางของแสงด้วย โดยเราสามารถหมุนฟิลเตอร์ (ฟิลเตอร์ชนิดนี้มีเลนส์ซ้อนกัน 2 ชั้น) เพื่อหาจุดที่ตัดแสงได้ดีที่สุดโดยมองจากช่องมองภาพได้เลย
สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมากคือ ฟิลเตอร์ตัวนี้จะลดแสงลงไป 1-2 stop ทำให้เมื่อใช้ในสภาพแสงน้อยอาจต้องใช้ขาตั้งกล้องด้วย และเมื่อใช้กับแฟลชอาจทำให้การทำงานของกล้องผิดพลาดได้ครับ และการที่ลดแสงได้ 1-2 stop นี่เอง สามารถนำมาใช้แทน filter ND (Fitler สำหรับลดแสง) ได้ ซึ่งจะมีประโยชน์มากในการถ่ายภาพน้ำตกให้ดูพริ้วไหวโดยการใช้ชัตเตอร์ speed ต่ำ ๆ ครับ (สามารถดูเรื่องการถ่ายภาพน้ำตกให้พริ้วไหว ได้จากบทความที่ผมเคยเขียนไว้แล้วนะครับ)
3. Soft Fiter
ถือได้ว่าเป็น Filter คู่ใจของผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพบุคคลครับ เพราะจะทำให้ภาพที่ได้อ่อนช้อย นุ่มนวล และเมื่อถ่ายในมุมที่ย้อนแสงนิด ๆ หรือวัตถุที่ถ่ายเป็นสีขาวแล้วล่ะก็จะยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้กับภาพเป็นอย่างมาก
Filter ตัวนี้ถ้าเป็นแบบคุณภาพดีจะแพงมาก (ชิ้นละเป็นพัน) ถ้าเพื่อน ๆ ไม่ได้ใช้บ่อยหรือใช้เป็นอาชีพก็สามารถประยุกต์ได้โดยการใช้ถุงน่อง (แบบสีเนื้อ) มาบังที่หน้าเล่นขณะถ่ายภาพ หรือใช้ยาหม่องหรือวิควาโปรับ หรือติดพลาสเตอร์ใส ที่ฟิลเตอร์ (Skylight or UV) ก็จะทำให้ภาพออกมา soft เช่นเดียวกัน (ห้ามทำกับเลนส์โดยตรงนะครับ ให้ทำบน filter เท่านั้น) โดยเลือกใช้รูรับแสงที่ค่อนข้างกว้าง (f1.8- f4) เพื่อไม่ให้เห็นวัตถุดังกล่าวชัดเกินไป แต่วิธีนี้อาจจะควบคุมคุณภาพได้ค่อนข้างยากครับ …
ถ้าใจถึงหน่อยและคิดว่าเลนส์ตัวนี้จะไว้ใช้ถ่ายภาพ soft อย่างเดียวก็ให้นำเลนส์ไปเก็บไว้ในที่ชื้น ๆ รอสักเดือนก็จะมีราขึ้นที่เลนส์ รับรองได้ว่าภาพที่ออกมา Soft สมใจแน่ (วิธีสุดท้ายนี่ล้อเล่นนะครับ อย่าเอาไปเป็นเยี่ยงอย่างนะครับ)
4. Graduate ครึ่งเทา (เป็นฟิลเตอร์ที่ไล่สีจาก สีเทาเข้มเป็นใส)
ฟิลเตอร์ตัวนี้เป็นอีกตัวหนึ่งที่ผมใช้บ่อยมากกับการถ่ายภาพทะเลหมอก หรือถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว แสงบนท้องฟ้าจะต่างกับพื้นด้านล่างมาก ทำให้เมื่อถ่ายภาพออกมาต้องเลือกจุดใดจุดหนึ่ง แต่ถ้าเรามี Filter Graduate ครึ่งเทามาช่วย โดยหมุนให้ส่วนที่เป็นสีเทาเข้มอยู่ในส่วนของท้องฟ้า ก็จะช่วยลดแสงในส่วนของท้องฟ้าให้ใกล้เคียงกับด้านล่างมากขึ้น ภาพที่ได้ก็จะสวยงามทั้งในส่วนของท้องฟ้าและพื้นที่ด้านล่างครับ
ได้รู้จัก Filter คู่ใจนักถ่ายภาพกันไปแล้ว หวังว่าคงทำให้เพื่อน ๆสนุกกับการถ่ายภาพและสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ได้มากขึ้นนะครับ 🙂
ภาพสวยเหมือนลงหนังสือนำเที่ยวเลยครับ
ขอบคุณครับ
งามจริงๆ