Select Page

ถ่ายภาพดอกไม้อย่างไรให้สวย

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา Post แต่ภาพทะเลเกือบทุกวัน เกรงว่าเพื่อน ๆ จะเบื่อซะก่อน วันนี้ก็เลยเอาภาพดอกไม้มาฝากแถมด้วยเทคนิคการถ่ายภาพดอกไม้ให้สวยสมใจครับ

เรามาดูกันเลยครับว่า การถ่ายภาพดอกไม้ให้สวยนั้นต้องพิจารณาอะไรบ้าง

 ang6-1.jpg

 1. ชนิดของเลนส์

จะว่าไปแล้วเลนส์ที่เหมาะกับการถ่ายภาพดอกไม้มากที่สุดก็คือเลนส์ Macro นั่นเอง เพราะเป็นเลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับการถ่ายภาพในระยะใกล้โดยเฉพาะ ทำให้สามารถถ่ายภาพดอกไม้ได้ทุกชนิดไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ แต่ถ้าไม่มีจริง ๆ เราก็สามารถใช้เลนส์ทั่วไปควบคู่กับระบบ Macro ได้ (ส่วนใหญ่ปุ่มที่ใช้เลือกฟังก์ชัน Macro จะมีสัญลักษณ์รูปดอกไม้) ซึ่งเมื่อเลือกใช้ระบบนี้แล้วจะทำให้กล้องสามารถถ่ายในระยะใกล้กว่าปกตินั่นเอง นอกจากนี้สำหรับกล้อง SLR อาจใช้เลนส์ Tele แทนก็ได้เช่นกัน แต่อาจจะไม่สามารถถ่ายได้ในระยะประชิดเท่ากับเลนส์ Macro ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ

ความจริงแล้วการถ่ายภาพดอกไม้ไม่จำเป็นต้องถ่ายในระยะใกล้เสมอไป ดังนั้นเรื่องเลนส์คงไม่ต้องเป็นห่วงมากนักครับ เรียกได้ว่ากล้องทุกตัวสามารถถ่ายภาพดอกไม้ได้แน่นอน เพียงแต่ถ้าใช้เลนส์ Macro หรือเลนส์ Tele เราสามารถควบคุมให้ฉากหลังของภาพเบลอ ทำให้ดอกไม้ดูโดดเด่นมากขึ้นครับ

 huy4.jpg

2. รูรับแสงและการวัดแสง

รูรับแสงที่นิยมสำหรับการถ่ายภาพดอกไม้คือรูรับแสงที่ค่อนข้างกว้าง (f4 – f5.6 ขึ้นอยู่กับชนิดของเลนส์ด้วย) ทั้งนี้เพื่อให้มีระยะชัดตื้น ทำให้เราได้ภาพที่ดอกไม้ลอยเด่นเหนือฉากหลัง

สำหรับการถ่ายภาพดอกไม้ที่เป็นสีขาว ให้เพื่อน ๆ ชดเชยแสงให้ over ประมาณ 0.5-1 stop เพราะดอกไม้สีขาวจะหลอกเครื่องวัดแสงทำให้กล้องรับแสงน้อยกว่าปกติ ถ้าไม่ชดเชยแสงดอกไม้สีขาวจะออกมาเป็นสีขาวขุ่นหรือสีเทาดูแล้วไม่สดใสครับ

ในทางตรงข้ามถ้าถ่ายดอกไม้ที่สีเข้มมาก ๆ (เกือบดำ) ให้ชดเชยแสง under ประมาณ 0.5 stop เพราะสีเข้มจะหลอกเครื่องวัดแสงทำให้รับแสงมากกว่าปกติ

อีกเรื่องหนึ่งคือพยายามเลือกถ่ายดอกที่มีสภาพแสงไม่จัดจ้านเกินไป (Contrast สูงเกินไป) เพราะแสงที่จัดจ้านจะก่อให้เกิดเงา ทำให้ภาพดูแล้วแข็งกระด้าง ซึ่งไม่เหมาะกับอารมณ์ของดอกไม้ที่ต้องการสื่อถึงความสวยงามอ่อนโยน หรือไม่ควรถ่ายภาพดอกไม้ในร่มหรือที่ค่อนข้างมืดเพราะกลีบดอกจะไม่สะท้อนสีสันที่แท้จริง ทำให้ภาพออกมาดูแล้วไม่สดใสเท่าที่ควรจะเป็น และที่สำคัญไม่ควรใช้แฟลชถ่ายภาพโดยตรง หากจำเป็นต้องใช้แพลชควรลดทอนความแข็งกระด้างของแสงแฟลชด้วยอุปกรณ์เสริม (อาจใช้กระดาษทิชชูก็ได้ครับ) หรือใช้อุปกรณ์ช่วยสำหรับถ่ายภาพดอกไม้โดยเฉพาะ (แฟลชจะแยกออกจากตัวกล้องเพื่อให้แสงใกล้เคียงกับแสงธรรมชาติมากที่สุดและไม่แข็งกระด้างมากเกินไป)

 ang6-2.jpg

3. Background

การเลือก Background เป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ เพราะนักถ่ายภาพมือใหม่มักจะมองข้าม  เราควรเลือก Background ที่ไม่มาแย่งสายตาของผู้ชมไปจากดอกไม้อันสวยงามของเรา เช่น ควรหามุมถ่ายภาพที่ background เป็นใบไม้หรือท้องฟ้า แทนที่จะเป็นสีเสื้อของคนที่อยู่แถว ๆ นั้น หรือ Backgound ควรจะมีแสงและสีที่ช่วยขับให้ดอกไม้ดูโดดเด่นขึ้น เช่นดอกทานตะวันสีเหลืองสดที่มี Background เป็นท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้มเป็นต้น

flower1.jpg4. องค์ประกอบ

ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการจัดองค์ประกอบภาพให้สวยงามครับ ในภาพควรมีจุดเด่นที่ชัดเจน ไม่ใช่ภาพที่มีดอกไม้หลายประเภทคละกันเต็มไปหมด แต่ละดอกมีสีต่างกัน และทุกดอกก็ดูชัดเจนสดใสไปหมด ภาพแบบนี้จะทำให้ขาดจุดเด่น เราควรเลือกตำแหน่งที่จะวางจุดเด่นในภาพให้เหมาะ ส่วนดอกอื่น ๆ ก็เป็นองค์กระกอบเสริมให้ภาพดูสวยงามยิ่งขึ้นครับ 

5. สี

สีนั้นมีอิทธิพลอย่างมากกับความรู้สึกของมนุษย์  การเลือกสีที่เหมาะสมนั้นจึงสามารถช่วยให้ภาพดอกไม้ธรรมดาดอกหนึ่งสวยขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ และการเลือกสีที่แตกต่างกันก็จะให้อารมณ์และความรู้สึกที่ต่างกัน

ในการถ่ายภาพดอกไม้ในธรรมชาตินั้นเราคงไม่โอกาสที่จะเลือกสีได้โดยการเปลี่ยนมุมมองเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นการจัดฉากถ่ายในสตูดิโอเราจะมีอิสระในการเลือกสีของดอกไม้และฉากหลังมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ภาพสื่ออารมณ์อย่างที่เราอยากจะให้เป็นครับ

ในโอกาสต่อไปผมจะนำเรื่องทฤษฎีสีมาอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำไปใช้กับการถ่ายภาพได้อย่างสวยงามและสื่อถึงอารมณ์ของภาพได้อย่างเหมาะสมครับ

เทคนิคการถ่ายภาพดอกไม้ข้างต้นนี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่นิยมกันในหมู่ช่างภาพเท่านั้น  ความจริงแล้วเพื่อน ๆ อาจเลือกใช้วิธีการที่แตกต่างก็สามารถได้ภาพดอกไม้ที่สวยงามได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนครับ 🙂


3 Comments

  1. nuanong

    องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
    ร่วมกับ อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราชและเทศบาลนครศรีธรรมราช
    ขอเชิญนักเรียนและเยวชนเรียนรู้วิทยาศาสตร์ อย่างตื่นเต้นสนุกสนาน กับ คาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช.
    – นิทรรศการกิจกรรมวิทยาศาสตร์
    – การแสดงทางวิทยาศาสตร์
    ณ หอประชุมเมือง เทศบาลนครศรีธรรมราช
    วันที่ 22 – 24 กรกฎาคม 2551
    ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.

  2. thitipong

    ไม่เป็นไรครับ เอาไว้ใช้ในโอกาสต่อไปได้แน่ๆ ครับ

  3. nim1B

    เสียดายที่ได้มาอ่านหลังจากถ่ายงานส่งอาจารย์ไปแล้วน่ะค่ะ