เพื่อน ๆ ที่ใช้กล้องทุกคนโดยเฉพาะกล้องแบบ SLR หรือกล้อง ProSumer คงเคยเห็นสัญลักษณ์โหมดรับแสงต่าง ๆ บนตัวกล้อง เช่น P, A, S, M (สำหรับกล้อง Nikon, Fuji) และ P, AV, TV, M (สำหรับกล้อง Canon) แต่บางคนใช้แค่โหมด P ซึ่งเป็นโหมดทำงานโดยอัตโนมัติเพราะใช้งานสะดวกเนื่องจากกล้องเลือกค่าต่าง ๆ ให้เองโดยอัตโนมัติ
แต่สำหรับเพื่อน ๆ ที่จริงจังเรื่องการถ่ายภาพผมขอแนะนำให้ใช้โหมดกึ่งอัตโนมัติ นั่นคือเรากำหนดค่าเองบางส่วน และให้กล้องเลือกค่าอื่น ๆ ที่เหมาะสมให้กับเรา
ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าสิ่งที่ควบคุมการรับแสงของภาพมีด้วยกัน 2 ตัวได้แก่ Shutter Speed (ช่วงเวลาที่เปิดรับแสง) และ f-number (ขนาดของช่องที่ให้แสงเข้า) เมื่อเราใช้ระบบอัตโนมัติ (P) กล้องจะทำการเลือกค่าทั้งสองตัวนี้ให้กับเราเองโดยอัตโนมัติ โดยอาศัยระบบอัจริยะในตัวกล้อง แต่ก็อย่างว่าครับ ใครจะรู้ใจเราเท่าตัวเราเอง บางครั้งเราต้องการควบคุมปัจจับบางอย่าง หากให้กล้องเลือกค่าต่าง ๆ ให้เองโดยอัตโนมัติอาจไม่ได้ผลงานตามที่ต้องการ วันนี้เรามาดูวิธีการทำงานแบบกึ่งอัตโนมัติกันครับ
โหมด A (AV) เป็นโหมดที่เราเป็นผู้เลือก f-number (ขนาดของช่องที่ให้แสงเข้า) ด้วยตัวเอง แล้วให้กล้องเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมให้ แล้วทำไมต้องเลือกรูรับแสงเองล่ะ??? ก็เพราะขนาดของรูรับแสงมีผลกับภาพที่จะออกมา เช่นขนาดรูรับแสงใหญ่ (ตัวเลข f-stop น้อยเช่น f/1.4, f/2.8) ภาพที่ได้จะมีช่วงชัดลึกน้อย (ชัดเฉพาะจุดที่เราโฟกัสนั่นเอง) เหมาะสำหรับการถ่ายภาพบุคคลที่ต้องการให้ตัวแบบเด่นแต่ฉากหลังเบลอ, หรืออาจเลือกขนาดรูรับแสงที่เล็กมาก (ตัวเลข f-stop มาก เช่น f/16, f/22) ซึ่งจะให้ภาพที่ชัดตั้งแต่ฉากหน้าจนถึงฉากหลัง สำหรับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์เป็นต้น ดังนั้นโหมด A (AV) จะเหมาะมากถ้าเราต้องการควบคุมลักษณะของภาพที่ออกมาในลักษณะที่ผมยกตัวอย่างข้างต้น
หมายเหตุ
ทั้งนี้ภาพจะสมบูรณ์หรือไม่อาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ถ้าเราต้องการภาพที่ชัดลึก เราต้องตั้งขนาดรูรับแสงแคบตามที่ผมยกตัวอย่างข้างต้น เมื่อรูรับแสงแคบ แสงก็จะเข้าน้อย หากเป็นช่วงเย็นหรืออยู่ในที่มีแสงน้อยอยู่แล้ว กล้องก็จะต้องพยายามรับแสงให้นานขึ้นเพื่อให้ได้แสงที่พอดี (shutter speed ต่ำ) เมื่อ shutter speed ต่ำก็อาจจะทำให้ภาพไหวได้ ซึ่งเราต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วยในการถ่ายภาพเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้
หวังว่าเพื่อน ๆ คงได้ลองใช้โหมด A (AV) ในการถ่ายภาพให้ได้ผลงานถูกใจกัน เพราะผมเองก็ใช้โหมดนี้เป็นหลักในการถ่ายภาพเช่นเดียวกันครับ 🙂