เมื่อนานมาแล้ว มีชาวสวนคนหนึ่งมีบุตรชายสามคนปลูกต้นมะม่วงซึ่งผลของมันจะเป็นสีทองอร่ามประดุจทองคำบริสุทธิ์ ที่สำคัญรสชาติของมะม่วงต้นนี้อร่อยกว่ามะม่วงทุกสายพันธ์ในเมืองสยาม มันจึงเป็นผลไม้ที่ทุกคนต้องการ แต่ละปีมะม่วงต้นนี้จะออกผลมากมายกว่า 500 ผล ซึ่งชาวสวนได้ให้สิทธิ์ลูกชายทั้งสามของเขานำมะม่วงนี้ไปทานกันในครอบครัวของตัวเองครอบครัวละ 100 ผล ที่เหลืออีก 200 ผลนำไปขายแล้วนำเงินมาซื้อปุ๋ยพรวนดิน และดูแลรักษาต้นมะม่วงต้นนี้
ปีหนึ่งเกิดภัยพิบัติร้ายแรงฝนไม่ตกตามฤดูกาล ต้นมะม่วงทองคำจึงให้ผลผลิตน้อยกว่าทุกปี แต่ลูก ๆ ทั้งสามก็ยังคงเก็บมะม่วงไปคนละ 100 ผลเท่าเดิม ทำให้บนต้นเหลือมะม่วงเพียง 50 ผลเพื่อนำไปขาย เงินที่ได้มาจึงสามารถซื้อปุ๋ยได้เพียงไม่กี่ถุงเท่านั้น
เพราะต้นมะม่วงได้ปุ๋ยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในปีต่อมามันจึงออกผลเพียง 300 ผล ซึ่งลูก ๆ ทั้งสามได้แบ่งไปคนละ 100 ผลเท่าเดิม โดยไม่เหลือไว้ขายแม้แต่ลูกค้าเดียว
เมื่อถึงฤดูกาลเก็บมะม่วงปีต่อมา ลูกชายทั้งสามของชาวสวนเดินทางมาเก็บมะม่วงไปทานเหมือนทุกปี แต่ก็ต้องตะลึงเมื่อพบว่า ต้นมะม่วงที่เคยให้ผลสีทองอร่าม บัดนี้ได้กลายเป็นตอไม้ที่ไม่เหลือแม้แต่ใบให้ร่มเงาด้วยซ้ำ
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีใครเห็นชื่อมะม่วงทองคำอยู่ในชื่อผลไม้ของเมืองสยามอีกเลย
…………………………………………………………………………………………………………..
อ่านเรื่องนี้แล้วลองมองดูตัวเรานะครับ
ในระดับชาติ : เราต่างเรียกร้องสิทธิ์มากมายของแต่ละคนแต่ละฝ่าย เพื่อที่จะได้มาในสิ่งที่เราต้องการ แต่เราลืมหน้าที่ของพลเมืองที่ต้องรักษาให้ประเทศนี้อยู่อย่างสงบสุขร่มเย็นกันอยู่หรือเปล่า?
ในระดับองค์กร : เราต่างใช้สิทธิ์กันเต็มที่ หาหนทางให้สิทธิ์นั้นนำมาซึ่งผลประโยชน์กับตัวเรามากที่สุด แต่เรากำลังลืมอีกหน้าที่หนึ่งซึ่งสำคัญคือช่วยกันประหยัดและลดค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอดขององค์กรกันอยู่หรือไม่?
หากเราทุกคนรู้จักการใช้สิทธิ์อย่างพอเพียง และสำนึกในหน้าที่ของเรา ไม่ว่าจะมีอุปสรรคมากมายแค่ไหน ชาติหรือองค์กรก็จะผ่านปัญหานั้นไปได้ ในทางตรงข้าม ถ้าทุกคนรู้จักแต่ใช้สิทธิ์ของตัวเองเต็มที่ แต่ลืมหน้าที่อย่างหนึ่งที่ต้องช่วยกันรักษาชาติและองค์กรไว้ด้วยการใช้สิทธิ์แต่พอเพียง เมื่อนั้นชาติหรือองค์กรก็คงเหมือนต้นมะม่วงที่เป็นเพียงตอไม้ซึ่งมีค่าเพียงแค่นิทานเรื่องหนึ่งที่ส่งเป็น forward mail