Select Page

The Power of RAW

เพื่อน ๆ หลายคนคงเคยเห็นคุณสมบัติหนึ่งของกล้อง Digital นั่นก็คือสามารถถ่ายภาพโดยได้ไฟล์ที่มี format เป็น RAW ได้ (ปกติที่เห็นโดยทั่วไปจะเป็น JPG)   แถมบางคนอาจจะเคยลองถ่ายภาพที่ได้ format RAW แล้วด้วยซ้ำแต่ไม่รู้ว่ามันเอาไปใช้งานยังไง  และหลายคนคงแอบบ่นในใจว่าไม่เห็นภาพมันจะดีกว่าแบบ JPG ตรงไหน  ไฟล์ก็ใหญ่ แถมบางทีเปิดไฟล์ไม่ได้ด้วยซ้ำ

ไฟล์แบบ RAW คือการเก็บรายละเอียดของแสงในขณะนั้นแบบที่เป็นข้อมูลดิบโดยตัวกล้องจะยังไม่ทำการประมวลผล (ปรับภาพตามค่าที่เราตั้งอาทิ White Balance เป็นต้น)  แต่จะนำข้อมูลดิบนี้มาปรับด้วยโปรแกรมของกล้องภายหลัง   ซึ่งต่างกับ format แบบ JPG ที่ตัวกล้องจะทำการประมวลผลด้วยโปรแกรมในตัวกล้อง  (ซึ่งปกติมันก็เก่งเอาการอยู่  แต่ยังไงก็สู้นำมาทำภายหลังด้วยโปรแกรมเฉพาะทางไม่ได้)

การที่ต้องนำมาประมวลผลภายหลังนั้นเนื่องจากการปรับค่าบางอย่างจะใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน  หากใช้ตัวกล้องทำกว่าจะถ่ายภาพต่อไปได้อาจจะต้องรอเป็นนาทีก็คงไม่สะดวก ดังนั้น RAW จึงเป็นทางออกของช่างภาพมืออาชีพทั้งหลาย  อีกประการหนึ่ง format แบบ JPG นั้นจะมีการบีบอัดข้อมูลเพื่อให้ประหยัดเนื้อที่ในการเก็บข้อมูล  ซึ่งเพื่อน ๆ คงสังเกตุเห็นได้ว่ากล้องที่บอกว่าความละเอียด 10 Mega Pixel  ภาพที่ถ่ายออกมาอาจมีขนาดเพียง 3-4 Megabyte เท่านั้น  ก็สืบเนื่องมาจากการบีบอัดข้อมูลดังที่ผมกล่าวมานี่เอง

แต่เพื่อให้สะดวกในการใช้งาน  ส่วนใหญ่กล้องที่มีคุณสมบัติถ่ายภาพแบบ RAW ได้จะสามารถสั่งให้กล้องสร้างไฟล์ขึ้นมาทั้ง RAW & JPG ก็ได้  เพื่อให้สามารถนำไฟล์ JPG ไปดูผ่านโปรแกรมดูภาพมาตรฐานทั่วไปได้     เพราะไฟล์แบบ RAW นั้นต้องใช้โปรแกรมที่ออกแบบมาให้อ่านไฟล์ประเภทนี้ได้  โดย RAW ไฟล์ของแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อก็ไม่เหมือนกันเสียด้วย   ทั้งนี้คงต้องดูจากคู่มือของกล้องเป็นหลัก  เช่น กล้อง Nikon D80 ที่ผมใช้อยู่นั้น  โปรแกรมที่ใช้ในการประมวลผลไฟล์แบบ RAW ไปเป็นไฟล์สำหรับใช้งานก็คือ Nikon Capture NX นั่นเอง  ซึ่งโปรแกรมตัวนี้จะมีฟังก์ชันในการแก้ไขคุณภาพของภาพอย่างครบถ้วน   ซึ่งผมเองก็อยู่ระหว่างการศึกษาเพราะมันมีเยอะเหลือเกิน  แต่จากที่ได้ทดลองใช้กับงานถ่ายภาพของเพื่อนที่มาขอให้ผมเป็นช่างภาพ(จำเป็น) ถ่ายภาพเพื่อใช้ในงานแต่งงาน    ผมพบว่าหลังจากประมวลผลหรือที่หลายคนเรียกว่า process นั้น  ภาพที่ได้จะมีคุณภาพสูงกว่าไฟล์แบบ JPG ที่ได้จากตัวกล้องอยู่พอสมควร  โดยเฉพาะรายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่างซึ่ง JPG ที่ได้จากกล้องนั้นบางครั้งจะสูญเสียไปเนื่องจากการบีบอัดของ processor ในตัวกล้อง

และหลังจากทำการ Process แล้วเราสามารถบันทึกภาพแบบ TIFF ซึ่งจะเก็บคุณสมบัติไว้อย่างครบถ้วนคล้ายกับ RAW แต่สามารถเปิดได้ด้วยโปรแกรมดูภาพมาตรฐานทั่วไป  หรือจะเลือกบันทึกแบบ JPG ซึ่งสามารถกำหนดระดับของการบีบอัดข้อมูลได้ว่าจะให้ยังคงคุณภาพไว้เพียงไหน

หวังว่าเพื่อน ๆ ที่คิดจะจริงจังกับการถ่ายภาพน่าจะลองหันมาถ่ายภาพโดยใช้ format RAW  เพื่อให้เราได้คุณภาพของภาพดีที่สุด  โดยเฉพาะในสถานะการที่ภาพมี contrast สูง   หรือมีส่วนมืดและส่วนสว่างในภาพมากนั่นเอง

ท้ายสุดก็นำภาพที่ process แล้ว   แต่บันทึกเป็น JPG มาให้เพื่อน ๆ ชมเป็นตัวอย่างนะครับ  โดยภาพแรกมี contrast ค่อนข้างสูง  ส่วนาภาพที่สองนั้นบริเวณที่เป็นส่วนมืดนั้นมืดมาก ๆ จะแทบไม่เห็นรายละเอียดของภาพ  แต่โปรแกรม Capture NX กับคุณสมบัติของไฟล์ RAW ก็สามารถทำให้ภาพออกมาเป็นแบบนี้

raw01

raw02


2 Comments

  1. thitipong

    ขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ วันหลังจะเอาภาพของ case ที่ RAW เทียบกับ JPG แล้วต่างกันเยอะ ๆมาให้ชมกัน

  2. ต้นแพร

    แรกๆ ผมก็ถ่ายแต่JPGครับ

    พอได้ลองปรับแต่งRAW

    ก็เลยรู้ว่า อ๋อก็ The Power of RAW มันดีอย่างนี้นี่เอง

    เลยเปลี่ยนมาถ่ายRAWตั้งแต่บัดนั้น

    ^_^

    .
    .
    .
    คุณมดมีภาพเดิมๆ มาเปรียบเทียบให้ดูน่าจะดีนะครับ