Select Page

10 ข้อควรรู้เมื่อต้องเช่ารถขับท่องเที่ยวในยุโรปเป็นครั้งแรก

หลาย ๆ คนที่ไปเที่ยวยุโรปเป็นครั้งแรก และวางแผนจะเดินทางด้วยการขับรถเอง ลองมาดูกันครับว่ามีอะไรบ้างที่ต้องรู้เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นไปอย่างสนุกและปลอดภัย

Dolomites-Italy-157

1. เลี่ยงการขับในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะวันแรก ๆ ของการท่องเที่ยว 

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าในยุโรปส่วนใหญ่จะขับคนละเลนกับบ้านเรา ดังนั้นวันแรก ๆ ในการใช้รถจะเจอกับความสับสนมากหน่อย ไม่ว่าสวิทย์ไฟเลี้ยวกับที่ปัดน้ำฝนที่มักจะอยู่คนละด้านกับบ้านเรา  การเลี้ยวรถ การเข้าวงเวียนที่อาจต้องมองรถคนละฝั่งกับที่คุ้นเคย  หากต้องเจอสภาวะแบบนี้ในเมืองที่เต็มไปด้วยรถเยอะ ๆ กับป้ายจราจรที่อ่านไม่ออกสารพัดคงเครียดน่าดู  ดังนั้นขอแนะนำว่าวันแรกของการขับรถไม่ควรเข้าเมืองเด็ดขาด  เลือกเส้นทางที่โล่ง ๆ ให้ได้คุ้นกับสภาพการจราจรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของรถสัก 2-3 วันแล้วค่อยว่ากัน

2. ถ่ายภาพภายในภายนอกรถโดยละเอียดทั้งวันรับและส่งรถ

ไมน่าเชื่อว่าประเทศในยุโรปจะมีผู้ประกอบการรถเช่าที่ค่อนข้าง tricky โดยเฉพาะพวกที่ให้เช่ารถราคาถูก  พวกนี้จะปล่อยราคาล่อตาล่อใจลูกค้า แล้วพยายามขายประกันราคาเวอร์เกินจริง หากไม่ซื้อก็อาจจะเจอปัญหาตามเก็บค่าเสียหายตามหลังจากบัตรเครดิตของเรา  ต้องมานั่งปวดตับกันภายหลัง  ดังนั้นก่อนรับรถและหลังรับรถให้ถ่ายภาพหรือ VDO สภาพรถไว้โดยละเอียดเพื่อเป็นหลักฐาน ตำหนิต่าง ๆ บนรถต้องระบุให้ชัดบนเอกสารรับรถเพื่อไม่ให้มีปัญหาในภายหลัง …

3. อย่าลืมเตรียมใบขับขี่สากล

อันที่จริงบริษัทรถเช่าส่วนใหญ่ยอมรับใบขับขี่บ้านเราแบบที่เป็น smart cad ซึ่งมีข้อมูลต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษกำกับ  แถมผมเคยเจอ case รถเสียต้องให้ตำรวจเยอรมันมาช่วย  ตอนยื่นใบขับขี่สากลให้ดูพี่แกทำหน้างง ๆ เพราะมันเป็นเล่มกระดาษแข็ง ดูแล้วไม่เหมือนใบขับขี่  พอเปลี่ยนเป็นแบบ card เท่านั้นแหละคุณตำรวจก็บอก ok ok … แต่ที่ผมนำให้เตรียมใบขับขี่สากลซึ่งเสียค่าธรรมเนียมเพียง 500 บาษเศษ ๆ ไปด้วย  ก็เพราะเราไม่รู้ว่าตำรวจคนอื่น ๆ เขาจะ ok กันทุกคนหรือเปล่า  และที่สำคัญในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันต้องมีการ claim ประกัน  ใบขับขี่ธรรมดาอาจไม่สามารถใช้ในการอ้างอิงได้  ดังนั้นแนะนำว่าอย่าเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายเลย  ยอมเสียเวลาเสียเงินนิด ๆ หน่อย ๆ เพื่อความสบายใจดีกว่า

4. หมายเลขฉุกเฉิน

ไปขับรถต่างบ้านต่างเมือง อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ  ดังนั้นควรมีหมายเลขสำหรับกรณีฉุกเฉินติดตัวไว้ตลอด อาทิ บริษัทรถเช่า, ตำรวจ เป็นต้น

5.  ปฏิบัติตามกฎจราจรโดยเคร่งครัด (ความเร็ว, ห้ามจอด, ห้ามเข้า, ที่จอดรถ) 

อย่าได้คิดว่ากฎหมายบ้านเมืองเขาจะอ่อนแอเหมือนประเทศเรา  ที่โน่นโทษปรับสูงมากเมื่อเทียบกับบ้านเรา  ผมเจอมาแล้ว  ขับรถเกิน limit โดนเรียกเก็บตามหลังเกือบหมื่นบาท  ดังนั้นก่อนไปควรหาข้อมูลเรื่องกฎจราจร, สัญลักษณ์ป้ายจราจรที่สำคัญ, การจำกัดความเร็วในถนนประเภทต่าง ๆ  รวมถึงข้อมูลการห้ามจอดหรือห้ามเข้าในบางพื้นที่ด้วย มิเช่นนั้น อาจต้องมาเครียดกับการเรียกเก็บค่าปรับกันภายหลัง

Hallstatt-Austria-5

6. สติ๊กเกอร์สำหรับใช้ Motor way 

ในบางประเทศ  เราจำเป็นต้องซื้อ sticker ติดหน้ากระจกเพื่อใช้ motor way ในประเทศนั้น ๆ อาทิ Switzerland, Czech, Austria เป็นต้น   บางครั้งบริษัทรถเช่าจะรวม sticker ทางด่วนในประเทศนั้น ๆ ให้แต่หากต้องข้ามแดน  อย่าลืมซื้อก่อน  ซึ่งโดยทั่วไปมีขายตามร้าน minimart แถว ๆ ชายแดน  โดยอาจมีให้เลือกเป็นแบบ 7 วัน 15 วันหรือ  1 เดือนเป็นต้น

7. เลือกประกันภัยที่เหมาะสม   

สำหรับการเช่ารถในโซนยุโรป ส่วนใหญ่จะมีประกันมาตรฐานรวมไปในค่าเช่ารถแล้ว ซึ่งเรียกว่า CDW เป็นรูปแบบประกันที่อาจต้องการการจ่ายค่าเสียหายบางส่วนขึ้นกับชนิดของรถที่เช่า  โดยผู้เช่าอาจซื้อแบบที่ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเลยในกรณีเกิดการเสียหาย แต่แน่นอนว่าเบี้ยจะแพงกว่าพอสมควร  และบริษัทรถเช่าก็จะพยายามให้ทำประกันแบบนี้คงเป็นเพราะได้ค่าคอมมิสชันสูงนั่นเอง   อีกเรื่องที่ควรทราบคือประกันบางประเภทไม่รวมการเสียหายที่เกิดกับยาง, กระจกและความเสียหายของอุปกรณ์ตกแต่งภายในตัวรถเป็นต้น … โดยทั่วไปแล้วหากเช่ารถกับบริษัทชั้นนำ  มักจะไม่ค่อยมีกรณีพิพาทมากนัก  แต่บางบริษัทอาศัยการให้ราคาถูกกว่าบริษัทใหญ่ ๆ แล้วมาฟันค่าประกันภายหลัง หรือไม่ก็ชาร์จค่าเสียหายหลังจากที่เราคืนรถแล้วดังกล่าวที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 2 … มีอีกวิธีหนึ่งในกรณีที่ไม่อยากซื้อประกันแพง ๆ จากบริษัทรถเช่า  สามารถซื้อประกันเดินทางแบบที่รวมการชดเชยค่าเสียหายส่วนแรกของรถเช่าไว้ด้วยก็ได้เช่นกัน

8. GPS สำคัญมาก 

แม้ว่าจะมีแผนที่ติดตัวไป  แต่ GPS ก็ยังถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากสำหรับการขับรถท่องเที่ยวในยุโรป  เพราะจะช่วยลดอัตราการหลงทางได้มาก  ก่อนไปควรเตรียมค่า co-ordinate เพื่อป้อนลงใน GPS ให้เรียบร้อย และต้องไม่ลืมว่าชื่อสถานที่ใน GPS อาจสะกดด้วยภาษาท้องถิ่น  ทำให้หาไม่เจอเมื่อค้นด้วยชื่อภาษาอังกฤษ  ดังนั้นการมีพิกัดเป็น co-ordinate จะช่วยลดปัญหาตรงนี้ได้

สำหรับการใช้ Google map ในมือถือเพื่อนำทางนั้นก็พอจะทำได้เหมือนกัน  แต่ผมอยากแนะนำให้เป็นแผนสำรองมากกว่าเพราะความแม่นยำจะน้อยกว่า GPS

9. ศึกษาเส้นทางก่อนเสมอ 

แม้จะมี GPS ในการนำทาง  แต่ควรศึกษาเส้นทางให้ดีก่อนเสมอ  ยิ่งเดี๋ยวนี้มี Google map, Google street view ยิ่งทำให้การวางแผนเส้นทางทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ผมเองมักจะใช้ Google street view ไปส่องตามจุดเลี้ยวสำคัญ หรือทางเข้าที่พักอยู่เสมอ  ซึ่งจะช่วยให้เราพอนึกภาพออกในวันเดินทางจริงว่าจะไปทางไหน  แต่ต้องไม่ลืมว่า Google street view บางทีก็ไม่ update นัก  หน้าตาของจริงอาจไม่เหมือนกับที่เห็นในจอก็เป็นได้

อีกประการที่ควรทราบคือ GPS มักมี option ให้เลือกเส้นทางได้ว่าจะไปเส้นทางใกล้ที่สุด, เร็วที่สุด, เลี่ยงทางด่วนอะไรประมาณนี้  การวางแผนการเดินทางที่ถูกต้องจะทำให้ GPS นำเราไปบนเส้นทางที่ตรงใจเรามากที่สุดนั่นเอง

10.  เส้นทางบางสายอาจปิดในบางฤดูกาล 

บางทีอุตส่าห์วางแผนการเดินทางซะดิบดี  พอไปจริงเส้นทางกลับปิดซะงั้น โดยเฉพาะ pass ต่าง ๆ ที่ผ่านเทือกเขาสูง  ซึ่งวิวจะสวยมาก  แต่เส้นทางเหล่านี้มักปิดในบางฤดูกาล  หากเดินทางในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิหรือต้นฤดูหนาวต้องระมัดระวังและตรวจสอบก่อนเสมอ  ไม่งั้นจะพลาดท่าเสียเวลาได้

หวังว่าทั้ง 10 ข้อข้างต้นจะทำให้การขับรถเที่ยวยุโรปของเพื่อน ๆ สนุกสนานและปลอดภัยนะครับ 🙂


3 Comments

  1. Piggy

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ

  2. Junthapa

    ถ้าผ่าน Austria ไปเที่ยวอิตาลี แล้วกลับมาเที่ยว Austria สติ๊กเกอร์ทางด่วนต้องซื้อครอบคลุมเวลาทั้งหมด รวมทั้งที่อยู่ในอิตาลี่ด้วยรึปล่าวค่ะ…?

  3. Thasita

    ขอบคุณค่ะ มีประโยชน์มาก