สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสสอนน้อง ๆ ในแผนกใช้งานกล้อง DSLR และหัวข้อนึงที่พูดถึงก็คือการตั้งค่ารูรับแสง (f/stop) ซึ่งผลของการตั้งค่ารูรับแสงที่ต่างกันนอกจากจะทำให้ปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องต่างกันแล้ว ยังมีผลกับช่วงความชัดในภาพนั้น ๆ ด้วย ซึ่งชาวกล้องจะเรียกช่วงความชัดนี้ว่า Dept of field .. โดยเมื่อเราตั้งค่ารูรับแสงแคบ (เปิดช่องให้แสงเข้าน้อย หรือเลข f/stop สูง ๆ นั่นเอง) ภาพที่ได้จะมีช่วงความชัดที่กว้างกว่าเมื่อเราตั้งรูรับแสงกว้าง (เปิดช่องให้แสงเข้ามาก หรือเลข f/stop น้อย ๆ) … ซึ่งหลาย ๆ คนคงเคยเห็นภาพประเภทที่เรียกว่าหลังละลาย ซึ่งภาพเหล่านี้เกิดจากการใช้ช่วงของความชัดลึกที่น้อย หรือเรียกว่าชัดตื้นนั่นเอง (ชัดเฉพาะตัววัตถุที่โฟกัน ส่วน background จะเบลอมากทำให้ภาพของวัตถุที่ถ่ายมีความโดดเด่น) แต่การที่จะได้ภาพชนิดหลังละลายหรือไม่นั้น นอกจากจะต้องเลือกค่ารูรับแสงที่เหมาะสมแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น ชนิดของเลนส์ที่ใช้ ถ้าเป็นเลนส์เทเล ก็จะทำให้หลังละลายมากกว่าเลนส์ไวด์, ระยะห่างระหว่างวัตถุกับฉากหลังยิ่งมากก็จะยิ่งช่วยให้หลังละลายมากขึ้น
สองภาพที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ ภาพบนเลือกใช้รูรับแสงกว้างกว่าภาพล่าง จะเห็นได้ว่าช่วงของความชัดลึกของภาพล่างจะมากกว่า ทั้ง ๆ ที่เป็นภาพที่ถ่ายจากมุมใกล้เคียงกัน, สภาพแสดงเดียวกัน ดังนั้นเพื่อน ๆ สามารถควบคุมลักษณะภาพที่ออกมาได้โดยการเปลี่ยนค่ารูรับแสง (ภาพล่างจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าภาพบน เพื่อชดเชยแสงที่น้อยลงจากการลดขนาดรูรับแสงนั่นเอง)
สิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมากในการถ่ายภาพที่ Dept of field น้อย หรือชัดตื้นก็คือ ช่วงของความชัดต้องไม่น้อยจนเกินไปจนทำให้รู้สึกว่าภาพนั้นไม่ชัด หรือบางครั้งการโฟกัสของภาพไม่แม่นพออาจจะไปโฟกัสบริเวณอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จุดที่ต้องการ อาทิถ่ายภาพดวงตาใกล้ๆ และเลือกใช้รูรับแสงกว้าง ๆ แต่กล้องกับไปโฟกัสที่ขนตาแทนที่จะเป็นดวงตา ก็จะทำให้ภาพดูแล้วไม่คมชัดเท่าที่ควร
หรืออย่างการถ่ายภาพดอกไม้ ก็ต้องระวังว่ามีความชัดครอบคลุมกลีบดอกและเกสร มิเช่นนั้นอาจทำให้ดูเหมือนไม่ชัดได้เหมือนกัน (แต่บางครั้งถ้าเราต้องการให้ชัดเฉพาะจุดจริง ๆ อย่างเช่นภาพแนวมาโครก็ลืมปัจจัยนี้ไปได้ครับ)
ภาพตัวอย่างนี้เป็นภาพดอกบัวที่ผมเลือกควบคุมความชัดลึกให้ครอบคลุมกลีบดอกด้วย แต่ก็ไม่ชัดลึกถึงขนาด background ด้านหลัง ทำให้ดอกไม้ดูโดดเด่นจากฉากหลังแต่ก็ยังดูคมชัดอยู่
เพื่อน ๆ ได้ทราบเทคนิคแล้วลองนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับภาพของเพื่อน ๆ นะครับ