ผมเขียนบทความนี้ด้วยความอิจฉาเพื่อน ๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ เพราะปีนี้เป็นปีที่มีการจุดพลุอย่างยิ่งใหญ่สวยงามเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ในหลวงทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ผมเองก็ได้แต่ดูตาปริบ ๆ ทางทีวีเพราะอยู่ไกลแสนไกล ที่ภูเก็ตแม้จะมีบ้างก็ไม่ยิ่งใหญ่อลังการก็เลยไม่ได้ไปถ่ายเก็บไว้ แต่คิดว่าเพื่อน ๆ หลายคนที่ได้มีโอกาสถ่ายภาพอาจผิดหวังกับผลงานตัวเอง และไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนถ่ายแล้วสวยจัง ของเราออกมาเป็นจุด ๆ ไม่มีเส้นสายสวยงามเหมือนคนอื่น ผมก็เลยถือโอกาสเขียนเทคนิคการถ่ายภาพพลุเพื่อให้เพื่อนๆ ที่ยังไม่เข้าใจได้นำวิธีการนี้ไปใช้เพื่อถ่ายภาพพลุครั้งต่อไป
หลักการของการถ่ายภาพพลุคือการที่เราต้องให้กล้องเปิดรับแสงของพลุเป็นระยะเวลาหนึ่ง (ตั้งแต่ขึ้นไปจนกระทั่งระเบิดกระจาย) โดยกล้องจะบันทึกการเดินทางของลูกไฟเป็นเส้นสายอย่างสวยงาม ซึ่งต่างจากการถ่ายภาพแบบปกติที่กล้องจะเปิดรับแสงเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น หากเราถ่ายภาพแบบปกติอาจจะไม่ติดเลย (มืดสนิท) หรือไม่ก็เห็นเป็นจุด ๆ ไม่เป็นสายเนื่องจากกล้องเปิดรับแสงเป็นช่วงเวลาที่สั้นเกินไป
……………..
วิธีการถ่าย
สำหรับกล้องแบบ SLR ให้เพื่อนๆ เลือกควมไวแสงที่ ISO100-200 ความเร็วชัตเตอร์ B ซึ่งหมายถึงกล้องจะเปิดรับแสงไปเรื่อย ๆ ในขณะที่เรากดชัตเตอร์ค้างไว้ และหยุดรับแสงเมื่อเราจะปล่อยชัตเตอร์นั่นเอง (หากใช้สายลั่นชัตเตอร์แทนการกดด้วยมือจะทำให้ลดโอกาสที่ภาพจะสั่นไหวได้) สำหรับค่ารูรับแสงให้เลือกระหว่าง f/8 – f/11 แล้วแต่ว่าความสว่างของพลุมากน้อยเพียงใด ลองถ่ายดูสักภาพสองภาพก็จะทราบว่าควรจะลดหรือจะเพิ่มหรือไม่ หากถ่ายออกมาแล้วพลุเป็นสีขาวสว่างแทนที่จะเป็นสีสันสวยงามก็ให้ปรับตัวเลขสูงขึ้น (รูรับแสงแคบลง) แต่ถ้าภาพออกมามืดไปก็ให้ลดตัวเลขลง (รูรับแสงกว้างขึ้น) แต่เท่าที่ผมถ่ายมาส่วนใหญ่ตัวเลขรูรับแสงที่เหมาะสมก็อยู่ในช่วงที่กล่าวมาข้างต้นครับ (สำหรับกล้อง compact ที่ไม่ใช่ SLR ให้ตั้งโหมดสำหรับถ่ายภาพพลุ หรือไม่ก็เลือกความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดที่กล้องทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะอยู่ที่ 15 วืนาที)
ทั้งนี้เมื่อกำหนดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ได้แล้ว ก็หาทำเลเหมาะ ๆ (ฉากหลังควรจะมืดสนิท ไม่มีหลอดไฟหรือสปอตไลท์ส่องมายังกล้อง เพราะจะทำให้บริเวณดังกล่าวขาวเวอร์เกินไป) วางกล้องพร้อมขาตั้งกล้อง (ต้องใช้ขาตั้งกล้องเสมอนะครับ เพื่อป้องกันการสั่นไหวขณะถ่ายภาพ) แล้วปรับระบบโฟกัสให้เป็น manual และกำหนดระยะชัดให้เป็น infinity (เพื่อไม่ให้กล้องพยายามหาโฟกัสในขณะที่เรากำลังถ่าย ซึ่งอาจจะทำให้เสียโอกาสดี ๆ หรือกล้องอาจหาโฟกัสไม่เจอเพราะบรรยากาศมันมืดมากนั่นเอง) ที่สำคัญไม่ต้องเปิดแฟลชนะครับ
เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้วก็รอโอกาสให้พลุลูกแรกถูกจุดขึ้นมาเพื่อให้เราหาช่วงซูมที่พอเหมาะพอดี ถ้าเป็นไปได้ต้องเผื่อขอบไว้พอสมควรอย่าให้พลุล้นออกนอกเฟรม วิธีการก็เพียงกดชัตเตอร์ค้างไว้ตั้งแต่พลุเริ่มจุดจนกระทั่งระเบิดกระจายแล้วจึงปล่อยชัตเตอร์ ทั้งนี้เราอาจรอเก็บภาพพลุ 3-4 ลูกก่อนปล่อยชัตเตอร์ก็ได้ แต่จำไว้เสมอว่าหากพลุที่ถูกจุดอยู่ในตำแหน่งเดียวกันภาพจะถูกบันทึกซ้อนกันทำให้ดูแล้วไม่สวยงาม ดังนั้นไม่ควรเปิดรับแสงนานเกินไป นอกจากนี้การเปิดรับแสงนานเกินไปอาจมีแสงจากส่วนอื่น ๆเข้ามารบกวนทำให้ภาพไม่สวย เช่น แสงสปอตไลท์จากอาคารต่าง ๆ, ควันของพลุ เป็นต้น ทั้งนี้หากเราอยากรอเก็บภาพพลุลูกต่อไปแต่ยังไม่ถูกปล่อยขึ้นมา อาจใช้กระดาษดำบังหน้าเลนส์ไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อไม่ให้กล้องบันทึกแสงในช่วงเวลาที่รอก็ได้เช่นกัน หากบางงานจุดพลุตรงจุดเดียวซ้ำกันตลอด (ซึ่งถ่ายภาพออกมาแล้วพลุจะซ้อนกันไม่สวยงาม) เราอาจเล็งกล้องให้พลุอยู่ที่มุมด้านซ้ายก่อน เมื่อเก็บภาพพลุได้ 2-3 ลูกแล้วก็ใช้กระดาษดำปิดหน้ากล้องไว้ (ชัตเตอร์ยังกดค้างอยู่) หลังจากนั้นก็แพนกล้องมาทางซ้ายเล็กน้อยเพื่อให้ตำแหน่งพลุมาอยู่ทางด้านขวามือของภาพแล้วจึงเปิดกระดาษดำออก (ต้องกะเอานะครับเพราะเราจะไม่สามารถมองเห็นภาพได้จากช่องมองภาพ) เท่านี้เราก็จะได้ภาพพลุที่สวยงามแล้วล่ะครับ สำหรับภาพตัวอย่างเป็นภาพที่ไม่ดีนักนะครับ เพราะได้ถ่ายเพียงสองสามภาพตอนจัดงานลอยกระทงที่สปาซึ่งผมทำงานอยู่ (แบบว่างบน้อย อิอิ)
แถมให้นิดนึงครับ เป็นเทคนิคการถ่ายภาพมนุษย์ไฟฟ้า (ภาพคนที่มีแสงรอบตัว) วิธีการก็คล้ายกับถ่ายภาพพลุคือใช้ชัตเตอร์ B แต่ต่างกันตรงที่ให้เปิดแฟลชด้วย โดยมีนายแบบ 1 คนและผู้ช่วย 1 คน โดยให้นายแบบยืนในที่มืดสนิท (ตัวอย่างที่ผมถ่ายภาพมีแสงภายนอกเข้ามาด้วยทำให้ภาพไม่สวยเท่าที่ควรเพราะดูแล้วสั่นไหว) เมื่อเริ่มกดชัตเตอร์แฟลชจะทำงานและบันทึกภาพนายแบบ (ช่วงนี้ให้ผู้ช่วยอยู่นอกเฟรม) หลังจากแฟลชทำงานแล้วให้ผู้ช่วยถือไฟเย็น (หรือใช้ไฟฉายขนาดเล็กหันแสงมาทางกล้องก็ได้) วนรอบตัวนายแบบอย่างรวดเร็ว ซึ่งกล้องจะบันทึกภาพแสงที่วนรอบตัวนายแบบ เมื่อวนจนครบรอบแล้วก็ปล่อยชัตเตอร์ได้เลย ภาพที่ได้ก็จะเป็นภาพนายแบบที่มีพลังแสงรอบตัว เอาไว้อวดมือใหม่ที่ยังไม่เคยทราบเทคนิคนี้ได้ครับ … เทคนิคดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากมายแล้วแต่ความคิดสร้างสรรรค์ ขอเพียงอย่าเอาไปหลอกชาวบ้านให้เชื่องมงามเป็นใช้ได้ครับ 🙂
เจ๋งเลยครับ ตอนแรกผมว่าจะเขียนเรื่องนี้พอดี แต่ดันไม่มีเวลา
ผมมีแต่กล้อง compact ดีหน่อยที่มันมีลูกเล่นมากพอสมควร เลยพอถูไถได้ครับ 🙂