Select Page

8 ทีเด็ด … เคล็ดลับถ่ายภาพวิวให้สวยปัง

จะว่าไปผมเขียน blog ท่องเที่ยวถ่ายภาพมาก็หลายปีแล้ว แต่พักหลังๆ ลงแต่รีวิวเรื่องเที่ยวล้วนๆ ไม่ค่อยได้ update เรื่องถ่ายภาพเอาซะเลย แต่ผมก็เข้าใจว่ากว่าทุกคนจะเก็บตังค์ไปเที่ยวที่สวยๆ ได้นั้นก็แสนจะยากลำบาก คงอยากจะมีภาพถ่ายสวยๆ เก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก วันนี้เลยขอเอาเคล็ดลับการถ่ายภาพวิวเด็ดๆ มาฝากนะครับ  รับรองว่าเอาไปใช้แล้วได้ภาพวิวสวยปังแน่นอน … เทคนิคที่จะบอกมีทั้งแบบง้ายง่ายที่ใครก็ทำได้ ไปจนถึงแบบแอ็ดวานซ์ที่ต้องอาศัยความรู้เรื่องถ่ายภาพกับอุปกรณ์เสริมคู่กัน ก็เลือกใช้กันตามสกิลของแต่ละคนละกันนะคร้าบ

  1. เปลี่ยนมุมมอง
  • ระดับ : ง่าย
  • อุปกรณ์  : ไม่จำกัด

การถ่ายภาพวิวให้ดูโดดเด่น บางทีก็ต้องเปลี่ยนมุมมองบ้างเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามแปลกตา แถมบางครั้งยังช่วยตัดสิ่งรบกวนสายตาในภาพออกไปจากเฟรมได้ด้วย …​ ลองวางกล้องลงต่ำๆ หรือจะติดพื้นไปเลยก็ได้  งานนี้ใช้มือถืออาจคล่องตัวกว่ากล้องตัวใหญ่ด้วยซ้ำไป

เปลี่ยนมุมมองเพียงเล็กน้อย ช่วยให้ภาพดูน่าสนใจมากขึ้นและไม่จำเจ

2. แสงสะท้อนจากน้ำ

  • ระดับ : ง่าย
  • อุปกรณ์ : ไม่จำกัด

เราสามารถเพิ่มเสน่ห์ได้ง่ายๆ ให้กับภาพวิวของเราด้วยการถ่ายภาพที่สะท้อนจากผิวน้ำ วิธีนี้ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรพิเศษ แค่มองหาบึงหรือบางทีเป็นแค่แอ่งน้ำเล็กๆ หลังฝนตกบนพื้นก็ยังได้  รับรองว่าได้ภาพสวยประทับใจคนดู

บึงเล็กๆ ริมทางกับแสงสะท้อนทำให้ภาพดูสวยงามขึ้น เทคนิคนี้ใช้ได้ดีเมื่อน้ำนิ่ง

3. ใช้โหมด Landscape หรือ Vivid

  • ระดับ : ง่าย
  • อุปกรณ์  : ไม่จำกัด

บางคนอาจไม่ทราบว่ามือถือของเราหรือกล้องถ่ายภาพที่ใช้อยู่ส่วนใหญ่สามารถตั้งโหมดสีของกล้องให้เหมาะกับการถ่ายภาพวิวได้  โหมดสีนี้เรียกว่า Landscape ถ้าไม่มีอาจเลือกใช้โหมด Vivid ซึ่งให้โทนสีใกล้เคียงกันแทนก็ได้ … ทั้งนี้เมื่อเลือกใช้โหมดสีข้างต้นแล้ว กล้องจะทำการประมวลผลให้ได้ภาพที่มีสีสันสดใสสวยสะดุดตาโดยไม่ต้องไปแต่งภาพให้วุ่นวายในภายหลัง

ภาพแรกใช้โหมดสีปกติ (natural)

ภาพที่สองใช้โหมดสีสำหรับภาพวิว (landscape) … ซึ่งกล้องบางรุ่นจะสามารถปรับตั้งแบบละเอียดได้ด้วยว่าจะให้สีสดมากขึ้นขนาดไหน แต่ภาพนี้ใช้ค่าที่ติดมากับตัวกล้องซึ่งสีสันไม่จัดจ้านเกินไป โดยจะสดใสกว่าโหมดสีธรรมชาติอยู่เล็กน้อย

4. ตื่นเช้า

  • ระดับ : ง่าย
  • อุปกรณ์  : ไม่จำกัด

เรื่องตื่นเช้ากับการถ่ายภาพวิวเป็นของคู่กัน  ยิ่งตื่นเร็วก็ยิ่งมีโอกาสเก็บภาพวิวสวยๆ ได้เยอะ เพราะยามเช้านั้นมีอะไรให้ค้นหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นแสงดาวสุกใสกับแสงเรืองๆ ยามเช้าตรู่, ท้องฟ้าสีสวยก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หรือจะเป็นแสงสีทอง อันอบอุ่นยามเช้า ที่สำคัญสถานที่ท่องเที่ยวดังๆ หลายแห่งมีนักท่องเที่ยวในช่วงเช้าน้อยกว่าเวลาปกติ ยกเว้นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือทะเลหมอกนะ อันนั้นคงหนีไม่พ้น อิอิ

สะพานชาร์ลที่กรุงปราก …​ ปกตินักท่องเที่ยวเยอะมากเดินกันแน่นสะพาน แต่ถ้าไปตั้งแต่เช้าตรู่จะได้อารมณ์แบบนี้ครับ

ทุ่งข้าวบาร์เลย์กับแสงทองยามเช้า ถ้าตื่นสายคงไม่เห็นภาพนี้ … ถ้าไม่อยากตื่นเช้ามากก็พยายามเลือกที่พักทำเลดีไม่ไกลจากจุดถ่ายภาพนะครับ อันนี้ต้องอาศัยการทำการบ้านที่ดีด้วย

สิ่งที่ต้องระวังอย่างมากสำหรับการออกไปถ่ายภาพตอนเช้าในสถานที่ซึ่งเราไม่คุ้นเคยก็คืออุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถขึ้นเขาไปจุดชมวิว หรือการปีนป่ายก้อนหินไปหามุมถ่ายภาพล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงทั้งนั้น

5. Scale

  • ระดับ : ง่าย
  • อุปกรณ์  : ไม่จำกัด

บ่อยครั้งที่ถ่ายภาพวิวธรรมชาติออกมาแล้วดูไม่ยิ่งใหญ่อลังการเหมือนตาเห็น  ทั้งนี้ก็เพราะไม่มีสิ่งที่เราคุ้นเคยกับขนาดอยู่ในภาพนั่นเอง  ดังนั้นเราควรหา subject ใส่เข้าไปในภาพวิวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, บ้าน หรือง่ายที่สุดก็คือคนนี่แหละ เพื่อให้ผู้ชมภาพเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของวิวนั้นเมื่อเทียบกับขนาดของ subject ในภาพ  นอกจากนี้การมี subject เหล่านั้นยังช่วยเพิ่มความน่าสนใจและเรื่องราวให้กับภาพถ่ายอีกด้วย

ถ้าไม่มีคนอยู่ในภาพ บางทีเราอาจนึกไม่ออกครับว่ากองหินกับหน้าผาในภาพด้านล่างนี้ใหญ่โตขนาดไหน

6.  กระดาษดำบังแสง

  • ระดับ : ยาก
  • อุปกรณ์ : ขาตั้งกล้อง, กระดาษดำหรือวัสดุไม่สะท้อนแสงสีดำ, กล้องที่สามารถตั้ง shutter speed ได้

ปัญหาหนักอกของช่างภาพที่ชอบถ่ายภาพวิวพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกอย่างหนึ่งก็คือ สภาพแสงที่ต่างกันมากของท้องฟ้ากับบริเวณฉากหน้า  หากเปิดรับแสงพอดีที่ท้องฟ้ารายละเอียดในส่วนฉากหน้าก็จะหายไปกับความมืด  แต่ถ้าเปิดรับแสงที่ฉากหน้าพอดี สีสันสวยงามของท้องฟ้าก็จะกลายเป็นสีขาวดูไร้ราคาไปเลย … การแก้ปัญหานี้สามารถทำได้โดยใส่ฟิลเตอร์ครึ่งซีกที่ราคาแพงเอาการ  คงไม่คุ้มที่จะซื้อหากไม่ได้ถ่ายภาพแนวนี้บ่อยๆ … วิธีแก้ไขอย่างหนึ่งก็คือเราต้องลดเวลาการรับแสงในส่วนของท้องฟ้าลงให้น้อยกว่าส่วนฉากหน้า โดยใช้วัสดุสีดำหรือสีเข้มมาบังตรงด้านบนของภาพส่วนที่เป็นท้องฟ้า  โดยอาจต้องมีการคำนวณหรือลองผิดลองถูกกันหน่อย  เช่นวัดแสงที่ท้องฟ้าได้ f8 speed 3 วินาที  และวัดแสงที่ฉากหน้าได้ f8 speed 6 วินาที  ก็ให้ถ่ายโดยใช้ขาตั้งกล้องและใช้ f8 speed 6 วินาที  โดยที่ 3 วินาทีแรกใช้กระดาษดำบังตรงหน้าเลนส์ในส่วนที่เป็นท้องฟ้าไว้  ผมทดลองดูพบว่าแทนที่จะถือกระดาษนิ่งๆ ปิดไว้ 3 วินาที  การยกกระดาษขึ้นๆ ลงๆ เป็นจังหวะหน้าเลนส์จะทำให้เกลี่ยแสงได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า  แต่ก็แน่นอนว่าจะควบคุมเวลายากกว่าเช่นกัน

ภาพนี้ใช้แผ่นซองสีเข้มปิดๆเปิดๆ หน้าเลนส์แบบเฉียงๆ ทางด้านบนซ้ายเพื่อให้บริเวณนั้นรับแสงน้อยกว่าบริเวณอื่นๆ ของภาพ  เทคนนิคนี้จะใช้ได้ก็ต้องใช้ชัตเตอร์สปีดนานๆ หน่อย  อย่างน้อยคงต้อง 1 วินาทีขึ้นไป

7. ดวงจันทร์ดวงโต

  • ระดับ : ยาก
  • อุปกรณ์ : ขาตั้งกล้อง, กล้องที่มีโหมดถ่ายภาพซ้อน, เลนส์เทเลและเลนส์ไวด์

หลายคนคงเคยเห็นภาพดวงจันทร์ดวงโตๆ คู่กับวิวอาคารหรือภูเขา  คงคิดว่าภาพเหล่านั้นใช้โปรแกรมตกแต่งภาพ ซึ่งก็อาจเป็นเช่นนั้น  แต่เชื่อหรือไม่ว่าเราสามารถสร้างภาพแบบนี้ได้โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เลย … เทคนิคนี้เรียกว่าการถ่ายภาพซ้อน  โดยให้กล้องบันทึกภาพสองครั้ง  ภาพแรกบันทึกภาพวิวที่ต้องการด้วยเลนส์ไวด์โดยเว้นที่ว่างสำหรับดวงจันทร์ไว้ หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นเลนส์เทเลเพื่อให้ได้ขนาดของดวงจันทร์ใหญ่ที่สุดโดยวางตำแหน่งให้ตรงกับที่เว้นไว้ … วิธีการนี้ยุ่งยากไม่เบาแต่รับรองว่าได้ภาพสวยงามแปลกตาอย่างแน่นอน

8.  ชัตเตอร์สปีดต่ำ

  • ระดับ : ปานกลาง
  • อุปกรณ์ : ขาตั้งกล้อง, กล้องที่สามารถตั้งความเร็วชัตเตอร์ได้, Filter ND big stopper (6-10 stops), สายลั่นชัตเตอร์

การถ่ายภาพแม่น้ำ, ทะเล, ทะเลสาบ  หากน้ำนิ่งสนิทจะทำให้ภาพดูสวยงามกว่าเห็นผิวน้ำเป็นริ้วๆ  แต่บ่อยครั้งที่มีลมทำให้เราไม่สามารถได้ภาพน้ำนิ่งสนิทด้วยการถ่ายภาพแบบปกติ  จึงต้องอาศัยฟิลเตอร์ที่สามารถลดแสงได้มากๆ (6-10 stops) เพื่อทำให้กล้องต้องรับแสงเป็นเวลานานในการถ่ายภาพ (15 วินาทีเป็นอย่างน้อย) … การเปิดรับแสงนานทำให้ผิวน้ำที่พริ้วไหวกลายเป็นผืนน้ำที่ดูเรียบสนิทหรือบางครั้งเกิดเป็นละอองฟูฟ่องเหมือนหมอกในกรณีที่ถ่ายภาพคลื่นในทะเล ภาพที่ได้จะดูสวยขึ้นมาก  อย่างไรก็ตามการใช้ฟิลเตอร์ประเภทนี้จะทำให้กล้องไม่สามารถโฟกัสได้เพราะแสงน้อย ดังนั้นต้องโฟกัสภาพให้เรียบร้อยก่อนใส่ฟิลเตอร์ซึ่งจะเป็นเรื่องยุ่งยากทีเดียวหากฟิลเตอร์ตัวนั้นถอดยาก  อย่าลืมว่าการถ่ายภาพที่ shutter speed ต่ำขนาดนี้ต้องใช้ขาตั้งกล้องร่วมด้วย และหากใช้สายลั่นชัตเตอร์จะทำให้ลดการสั่นไหวได้ดี

ภาพแรกถ่ายแบบปกติ 

ภาพที่สองใช้ long exposure จะเห็นได้ว่าทะเลนุ่มกว่าเยอะเลย

ลองดูอีกสักภาพนะครับที่ใช้เทคนิคนี้

เป็นไงกันบ้างครับสำหรับ 8 เทคนิคที่มีทั้งง่ายและแอ็ดวานซ์  อย่าลืมนำไปลองใช้กันดู รับรองว่าให้ผลประทับใจแน่นอน


1 Comment

  1. อิมรอน

    อยากอ่านเคล็ดลับงานถ่ายภาพอาหารจัง