Select Page

ประสบการณ์ขอเชงเก้นวีซ่าจากสถานฑูตสวิสเซอร์แลนด์ผ่านศูนย์ ​​TLS contact (ก.ย. 60)

อันที่จริงผมเองก็เคยขอเชงเก้นวีซ่ามาหลายครั้งแล้ว ส่วนใหญ่ทำที่สถานกงศุลเยอรมนีที่จังหวัดภูเก็ต และเมื่อต้นปี 2560 ก็ขึ้นมาขอเชงเก้นวีซ่าเพื่อไปไอซ์แลนด์ที่ศูนย์ VFS (ขอผ่านสถานฑูต ​Denmark เพราะไอซ์แลนด์ไม่มีสถานฑูตท่ีเมืองไทย)  แต่เมื่อต้องขอวีซ่าใหม่ทีไรก็ตื่นเต้นและนอยด์ทุกทีกับการเตรียมเอกสาร  โดยเฉพาะรอบนี้ที่เดิมทีคิดว่าต้องขอจากสถานฑูตอิตาลีซึ่งได้ข่าวว่าเข้มงวดเรื่องเอกสาร แต่สุดท้ายต้องไปขอจากสถานฑูตสวิตเซอร์แลนด์เนื่องจากผมพักในสวิสฯ นานกว่า  วันนี้เลยเอาประสบการณ์จากการขอเชงเก้นวีซ่าครั้งล่าสุดนี้มาเล่าสู่กันฟัง

ผมเคยขอเชงเก้นวีซ่าจากสวิตเซอร์แลนด์มาแล้วรอบนึงตอนไปยุโรปครั้งแรก โดยครั้งนั้นขอผ่านสถานฑูตโดยตรง  แต่ครั้งนี้ขอผ่านศูนย์ TLS contact ซึ่งเป็นตัวแทนของสถานฑูตในการรับเอกสาร  ทั้งนี้เพื่อนๆ ยังคงสามารถยื่นตรงกับสถานฑูตได้เช่นกัน ซึ่งจะไม่มีค่าบริการ 800 กว่าบาท  แต่ผมว่ายื่นผ่านศูนย์ TLS contnact ก็ดีนะครับ  ระบบการยื่นเอกสารสะดวกสบาย และเจ้าหน้าที่ก็บริการดีมากทีเดียว

สำหรับรีวิวนี้ผมขอไม่พูดถึงเรื่องการเตรียมเอกสารมากนัก เพราะสามารถหาอ่านได้ทั่วไปและรายการเอกสารที่ต้องเตรียมก็มีให้ศึกษาแล้วจากลิ้งค์ด้านล่างนี้

https://ch.tlscontact.com/th/BKK/page.php?pid=tourism_less90

ที่จะเล่าให้ฟังคือประสบการณ์บางเรื่องที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังจะยื่นวีซ่าครับ  ลองไปดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง

  • การดูว่าจะยื่นขอวีซ่าจากสถานฑูตไหนให้ดูจำนวนวันที่พักในประเทศนั้นนานที่สุด ไม่ใช่ประเทศที่เราเดินทางเข้าหรืออกนะครับ  ผมเองเข้าใจผิดมาตลอดว่าจะเลือกขอจากประเทศที่เดินทางเข้าหรือจะเลือกประเทศที่พักนานที่สุดก็ได้  แต่หลังจากสอบถามทางศูนย์รับยื่นวีซ่าจึงได้รับความกระจ่างว่าต้องยื่นขอจากประเทศที่เราพักอาศัยนานที่สุดเท่านั้น  นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมต้องเปลี่ยนจากยื่นขอจากอิตาลีมาเป็นสวิตเซอร์แลนด์
  • ระบบการกรอกแบบฟอร์มขอวีซ่าที่ทำผ่านศูนย์ ​TLS contact นั้นค่อนข้างสะดวก  ให้เข้าเวปไซต์ของ TLS contact เพื่อลงทะเบียน  จากนั้นสามารถกรอกใบสมัครออนไลน์และทำนัดวันยื่นวีซ่าผ่านระบบนี้ได้เลย
  • การกรอกแบบฟอร์มออนไลน์นี้ก็เหมือนกับการกรอกแบบฟอร์มสมัครวีซ่าทั่วไป แต่แทนที่จะต้องพิมพ์ออกมาแล้วกรอกด้วยมือ ก็กรอกผ่านระบบออนไลน์เลย ข้อดีคือถ้ายังทำไม่เสร็จสามารถบันทึกแล้วมาทำต่อภายหลังได้  หากมีหลายคนก็สามารถเลือกคัดลอกข้อมูลที่เหมือนกันเช่นวันเดินทาง, ที่พักไปใช้สำหรับคนต่อๆ ไปได้ ทำให้ประหยัดเวลาในการกรอกข้อมูล
  • แบบฟอร์มบังคับให้กรอกรายละเอียดครบถ้วน แต่ในความเป็นจริงเราอาจไม่มีข้อมูลเหล่านั้น เช่นหมายเลขโทรศัพท์บ้าน  ผมแก้ปัญหาด้วยการกรอกหมายเลขโทรศัพท์มือถือลงไปแทนก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ
  •  กรณีเคยได้รับเชงเก้นวีซ่ามาแล้วก่อนหน้านี้ จะต้องกรอกหมายเลขที่วีซ่าเชงเก้นล่าสุด โดยมีคำแนะนำว่าหมายเลขดังกล่าวจะดูได้จากมุมบนขวาของวีซ่าที่เคยได้รับ ประกอบด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษตามด้วยตัวเลข  ผมเองหาอยู่ตั้งนานเพราะเห็นแต่ตัวเลข  แต่สุดท้ายก็ถึงบางอ้อ ภาษาอังกฤษนั้นจะอยู่ใต้ตัวเลข สีจางๆ หน่อย  อย่างในภาพด้านบนตัวอักษรภาษาอังกฤษก็คือตัวอักษรย่อ DNK ในกรอบสีแดงเลข 2 นั่นเอง  ส่วนตัวเลขก็จะอยู่ในกรอบสีแดงช่องหมายเลข 1  (ตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษนี้ก็คือตัวย่อของชื่อประเทศที่เราไปขอวีซ่านั่นเอง เช่นเยอรมนี DE, สวิสฯ CHE)
  • ข้อมูลอีกอย่างที่ต้องกรอกกรณีเคยขอเชงเก้นวีซ่าและเคยแสกนลายนิ้วมือเก็บไว้แล้ว  คือวันที่เก็บลายนิ้วมือครั้งก่อน ผมก็ไปหาแทบตายว่าเดินทางไปทำวีซ่ารอบที่แล้ววันไหน  แต่มารู้ภายหลังว่าให้ดูจากวันที่ซึ่งปรากฎในวีซ่าได้เลย (ที่ผมทำกรอบสีแดงหมายเลข 3 เอาไว้) ไม่ต้องไปหาให้วุ่นวาย  อีกอย่างวันที่ตรงนี้ผมสังเกตดูจะไม่ใช่วันที่เราไปทำวีซ่านะครับ ผมจึงเดาว่าข้อมูลลายนิ้วมือคงถูกบันทึกเข้าระบบหลังจากวันที่เราไปทำวีซ่าเล็กน้อย
  • การทำนัดวันยื่นเอกสารจะเริ่มรอบแรก 8 โมงเช้าไล่ไปเรื่อยๆ ถึง 11:30 น.  โดยแต่ละรอบห่างกัน 30 นาที  ผมแนะนำว่าให้เลือกรอบเช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เผื่อเอกสารมีปัญหาต้องขอเพิ่มเติม จะได้นำมายื่นได้ทันในวันเดียวกัน  และควรทำแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าคนเดินทางเยอะคิวอาจเต็ม
  • ผมยื่นรอบ 8:30 น. แต่ไปถึง ​TLS contact ตอน 8 โมงนิดๆ ก็ถูกเรียกตัวไปรอคิวก่อนเวลานะครับ
  • สำหรับเอกสารต่างๆ ที่ผมเจอปัญหากับตัวผมและคนที่ยื่นพร้อมกันคือภาพถ่าย  นอกจากต้องได้ขนาดตามที่ระบุไว้แล้ว  ต้องระวังพื้นหลังให้เป็นสีขาวและไม่มีเงา
  • เอกสารที่แสดงความพร้อมด้านการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ต้องเป็นแบบที่มีการรับรองจากธนาคาร (ให้ธนาคารออก statement แล้วเซ็นต์รับรอง) ในรายการเตรียมเอกสารระบุว่าต้องมีตราประทับของธนาคาร  แต่ในการยื่นจริงๆ เป็นแค่ลายเซ็นต์ของเจ้าหน้าที่ก็พอแล้ว (ผมเจอปัญหาว่าธนาคารกรุงเทพฯ ไม่มีนโยบายประทับตราธนาคารลงใน statement)
  • กรณีขอ statement จากธนาคารกรุงเทพฯ  รายการเคลื่อนไหวจะเป็นของวันก่อนหน้า ดังนั้นต้องวางแผนให้ดีเพราะบางทีเงินเข้าแล้วขอ statement เลย ยอดจะไม่แสดงใน statement ต้องรอวันรุ่งขึ้น  ทั้งนี้รวมถึงการแก้ไขชื่อหรือนามสกุลก็ต้องรออีกวันเช่นกันจึงมีผลใน statement … อ้ออย่าลืมแจ้งพนักงานธนาคารนะครับว่าขอเป็นชื่อภาษาอังกฤษ เพื่อให้ชัวร์ว่าจะไม่มีปัญหาตอนยื่นเอกสาร (แต่เท่าที่ทราบคือสามารถเขียนชื่อภาษาอังกฤษของเรากำกับลงไปได้ครับกรณีที่เอกสารเป็นภาษาไทย)
  • ตอนเข้าไปยื่นเอกสาร  เครื่องมือสื่อสารทั้งหมดจะต้องฝากไว้ตรงทางเข้า ดังนั้นกรณีเอกสารมีปัญหาและต้องการใช้โทรศัพท์ ต้องออกมาข้างนอกครับ
  • ด้านในมีบริการถ่ายภาพด่วนและถ่ายเอกสาร
  • ขั้นตอนหลักๆ ในการยื่นคือรอคิว, ยื่นเอกสาร, ชำระเงิน จากนั้นก็เก็บลายนิ้วมือและเก็บภาพครับ  โดยเวลาที่ใช้ก็ขึ้นกับว่าเอกสารของเราเรียบร้อยดีไหม  อย่างของผมเอกสารเรียบร้อยดีใช้เวลาราวชั่วโมงนึงก็เรียบร้อยครับ

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ล่าสาสุดในการขอเชงเก้นวีซ่ากับสถานฑูตสวิสเซอร์แลนด์ผ่านทาง ​TLS contact ซึ่งข้อมูลบางอย่างผมก็ไม่แน่ใจว่าเพื่อนๆ คนอื่นจะเจอเหมือนกันหรือไม่ เพราะเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่แต่ละคนอาจมีเกณฑ์ในการพิจารณาเอกสารต่างกันไปบ้าง  อย่างไรก็ตามผมว่าเจ้าหน้าที่ของ TLS contact ให้คำแนะนำดีมาก ทั้งการสอบถามผ่านทางเมล, โทรศัพท์ รวมถึงตอนยื่นเอกสารด้วย  … ระหว่างผมรอคิวมีพี่ผู้หญิงคนนึงเอกสารหลายอย่างไม่ถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่ก็ให้คำแนะนำอย่างใจเย็น ไม่มีทีท่ารำคาญเลย … ก็หวังว่าข้อมูลนี้คงเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังเตรียมยื่นวีซ่านะครับ

พิเศษสำหรับผู้ติดตาม “นายมด”