รีวิวนี้จะแบ่งเป็นสองเรื่องคือประกันภัยเดินทางท่องเที่ยวและประกันภัยสำหรับรถเช่า ทั้งสองอย่างนี้เกี่ยวกันอย่างไรไปดูกัน
ประกันภัยสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นข้อบังคับที่ต้องทำอยู่แล้วเพื่อขอวีซ่าเข้าประเทศ Norway รวมถึงทุกประเทศในกลุ่มเชงเก้น เพียงแต่หลายคนเลือกที่จะซื้อแผนความคุ้มครองต่ำสุดเพื่อประหยัดเงิน ทั้งๆ ที่เพิ่มงบอีกเพียงหลักร้อยหรืออาจจะพันนิดๆ (ถ้าไปหลายวัน) ก็จะได้แผนการคุ้มครองที่ครอบคลุมเหตุไม่คาดฝันต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง ซึ่งสำหรับผมแล้วคิดว่าคุ้มค่ามาก เนื่องจากหากต้องรักษาตัวในต่างประเทศโดยเฉพาะแถบยุโรปนั้นค่าใช้จ่ายสูงกว่าบ้านเราหลายเท่าตัว นอกจากนี้ยังมีแผนที่รวมการคุ้มครองค่าความเสียหายส่วนแรกจากรถเช่าได้ด้วย
จากตัวอย่างด้านล่างเป็นการแสดงแผนความคุ้มครองต่างๆ สำหรับการท่องเที่ยวประเทศนอร์เวย์ 7 วันของบริษัท ซมโปะ (https://traveljoy.sompo.co.th) ซึ่งผมใช้บริการอยู่
จะเห็นได้ว่าเบี้ยถูกสุดเพียงแค่ 411 บาทเท่านั้นสำหรับ plan A แต่แผนที่ผมแนะนำกรณีขับรถเที่ยวในต่างประเทศคือแผน plan c ครับเพราะครอบคลุมความเสียหายส่วนแรกจากรถเช่าด้วยถึง 20,000 บาท ซึ่งเดี๋ยวผมจะอธิบายภายหลังว่ามันคืออะไร อย่างไรก็ตามให้คนที่จะลงนามในสัญญาเช่ารถซื้อแผนนี้แค่คนเดียวก็พอเพราะประกันจะคุ้มครองเฉพาะผู้ที่มีชื่อในสัญญาเช่ารถเท่านั้น ส่วนคนอื่นๆ ให้เลือกแผนรอง top ซึ่งก็คือ plan B หรือ B+ ครับ ราคาจะต่างกับ plan A แค่นิดหน่อยแต่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องเมื่อถึงเมืองไทย และเหตุการณ์ต่างๆ ที่กระทบกับการเดินทางของเราเช่น กระเป๋าเดินทางล่าช้า, การสูญหายของเอกสารเดินทาง, การสูญหายของเงินสด, การลดวันเดินทาง, การจี้เครื่องบินเป็นต้น ทั้งนี้ประกันทุกบริษัทมีเงื่อนไขและข้อยกเว้นของความคุ้มครอง ควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนซื้อทุกครั้ง โดยของซมโปะสามารถอ่านเงื่อนไขได้ที่ http://bit.ly/2yrMugF
ประกันภัยรถเช่า เป็นเรื่องที่มีคนถามผมมาบ่อยมากว่าควรทำแบบไหนดี ควรซื้อเพิ่มไหม ซื้อกับใคร และอีกหลายคำถาม … ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมก็จะบอกว่าเอาแค่ประกันมาตรฐานที่มากับรถก็พอ ไม่ต้องซื้อเพิ่มแล้วก็จงขับด้วยความระมัดระวัง แต่จากการเดินทางแบบขับรถเองหลายครั้งทำให้ผมตกผลึกแล้วว่าการต้องมาเครียดและกดดันระหว่างเดินทางมันทำให้เที่ยวไม่สนุก และหลายครั้งอุบัติเหตุมันเกิดขึ้นโดยที่เราไม่คาดฝัน ดังนั้นคำแนะนำของผมในวันนี้จึงเปลี่ยนไป … เอาล่ะเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังว่าควรเลือกอย่างไร แต่ก่อนอื่นขออธิบาย basic ของประกันรถเช่าก่อนว่ามีตัวเลือกอะไรบ้าง
ผมเชื่อว่ารถเช่าเกือบทุกประเทศมีประกันติดมากับรถอยู่แล้วซึ่งจะเรียกว่า CDW (collision damage waiver) และบางประเทศหรือบางบริษัทอาจมีประกันกรณีรถสูญหายมาควบคู่กันด้วย ซึ่งในกรณีนี้ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นกับรถเช่าของเราอันเนื่องมาจากความผิดของผู้เช่า เราจะต้องรับผิดชอบไม่เกินค่าใช้จ่ายส่วนแรก (excess) ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้จะแตกต่างกันไปตามมูลค่ารถ … ยกตัวอย่างรถยนต์ที่ผมเช่าล่าสุดในทริป Norway มีค่าใช้จ่ายส่วนแรกอยู่ที่ 12,000 Nok (ราว 48,000 บาท) หมายความว่าถ้ารถเกิดเสียหายอันเนื่องมาจากความผิดของผม ค่าใช้จ่ายสูงสุดที่ผมจะต้องรับผิดชอบจะไม่เกิน 12,000 Nok นั่นเอง แต่ถ้าค่าซ่อมน้อยกว่านี้ก็จ่ายกันไปตามจริง
ซึ่งตรงนี้แหละครับการเลือกแผนประกันเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศแบบคุ้มครองค่าใช้จ่ายส่วนแรกเข้ามาช่วยเราได้ (แผน C ตามที่ผมเล่าก่อนหน้านี้) ในกรณีที่เราไม่ซื้อประกันรถเช่าเพิ่มเติม เราสามารถนำค่าใช้จ่ายที่ทางบริษัทรถเรียกเก็บไปเคลมจากประภัยเดินทางได้ อย่างเช่นแผนที่ผมยกตัวอย่างข้างต้น สามารถเคลมได้สูงสุด 20,000 บาท ดังนั้นถ้าไม่ได้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหรือหนักจริงๆ ก็น่าจะครอบคลุมได้อยู่ และต้องไม่ลืมว่าประกันภัยเดินทางแผน C ยังคุ้มครองกรณีบาดเจ็บด้วยวงเงินที่สูงกว่าแผน A และ B อีกด้วย
แต่สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อความสบายใจ ก็สามารถเลือกซื้อความคุ้มครองอีกแบบที่เรียกว่า zero excess ได้เช่นกัน ซึ่งหมายความว่าถ้าเกิดความเสียหายขึ้นกับรถเช่า เราไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเลยแลกกับเบี้ยประกันที่สูงขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้การซื้อ Zero excess นั้นมีทางเลือกสองแบบหลักๆ
1. ซื้อกับบริษัทรถเช่า (พนักงานมักจะถามเราทุกครั้งตอนรับรถ ถ้าสนใจก็ซื้อตรงนั้นได้เลย) วิธีนี้ดีตรงที่เราไม่จำเป็นต้องสำรองเงินกรณีเกิดเหตุ และไม่ต้องกังวลกับการเก็บภาพก่อนและหลังการเช่ารถ เพราะถือว่าเราได้ซื้อความคุ้มครองสูงสุดไปแล้ว แต่ที่เราควรทราบคือ
- ราคามักจะสูงกว่าการซื้อจาก agency
- บางบริษัทและบางประเทศไม่รวมความเสียหายที่เกิดกับยาง, กระจก (อันนี้ผมเจอด้วยตัวเองเลย บริษัทรถส่งบิลเรียกเก็บค่ารอยบนกระจกหน้ารถ)
2. ซื้อผ่าน agent ซึ่งสามารถทำได้กรณีที่เราเช่ารถผ่านเวปไซต์ agent ต่างๆ อาทิ rentalcars.com ที่จะเสนอขายประกันแบบ zero excess ให้หลังจากที่เราเลือกรถเช่าแล้ว ซึ่งข้อดีคือราคามักจะต่ำกว่าซื้อโดยตรงกับบริษัทรถเช่าและจะระบุชัดเจนว่ารวมค่าเสียหายที่เกิดกับยางและกระจกด้วย ..ข้อดีอีกอย่างที่ผมเจอกับตัวสำหรับทริป Norway ล่าสุดคือ ผมพบว่าบริษัทรถเช่า Budget มีการคิดค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินทั้งๆ ที่ตอนจองในเวปของ rentalcars.com ระบุว่ารวมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แล้ว นอกจากนี้ยังคิดค่าคนขับเพิ่มในราคาสูงกว่าที่ระบุไว้ในเวป rentalcars.com (ทั้งหมดชาร์จเข้ามาในบัตรเครดิตหลังจบทริป) ซึ่งผมได้ทำเรื่องแย้งผ่านเวปไซต์ rentalcars.com พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ เพียงแค่วันเดียวทาง rentalcars.com ก็แจ้งว่าจะทำการ refund ยอดเงินคืนให้กับผม ถัดจากนั้นอีก 2-3 วันเงินก็คืนกลับมาทางบัตรเครดิตที่ใช้รูดค่ารถเช่า … แม้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องประกันโดยตรง แต่ผมจะบอกว่าในกรณีนี้ถ้าผมจองตรงกับบริษัทรถ เราจะติดต่อเค้ายากมาก ยิ่งเราเดินทางกลับด้วยแล้ว การขอเงินคืนอาจต้องต่อสู้กันยาวนานพอสมควรทีเดียวผ่านบริษัทบัตรเครดิต แต่หากเราจองผ่านเวป agent (ที่น่าเชื่อถือ) ทำให้เราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นมาก งานนี้ผมยกเครดิตให้ rentalcars.com ครับ
สำคัญมาก … อย่าลืมศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครองด้วย เช่น
- ในประเทศ Norway บางบริษัทรถเช่าหรือ agency จะให้เราแจ้งด้วยว่ามีการนำรถขึ้นเรือเฟอร์รี่หรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องใช้เฟอร์รี่อย่าลืมบอก ไม่เช่นนั้นอาจเป็นเหตุให้บริษัทรถปฏิเสธการคุ้มครองกรณีที่เกิดเหตุเนื่องจากการใช้เรือเฟอร์รี่
- ถ้ามีการนำรถออกนอกประเทศต้องแจ้งให้บริษัทรถเช่าทราบด้วย ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องซื้อ cross border option
- รถบางรุ่นไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในบางประเทศ เช่น Mercedes benz อาจไม่ให้นำเข้าโรมาเนียเป็นต้น
- ถ้ามีคนขับมากกว่าหนึ่งคน ให้แจ้งกับบริษัทรถเช่าทุกครั้ง (ส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม) เพราะหากเกิดเหตุขณะที่คนซึ่งไม่ได้แจ้งไว้เป็นคนขับ ประกันอาจไม่ครอบคลุม
- ในประเทศ Iceland แม้จะซื้อแบบ zero excess แล้วแต่อาจต้องซื้อประกันเพิ่มเติมสำหรับความเสียหายที่เกิดกับประตูรถอันเนื่องจากลม, ความเสียหายที่เกิดกับตัวถังรถอันเนื่องจากหินและทราย ทั้งนี้เพราะภูมิประเทศและสภาพอากาศของประเทศนี้โหดร้ายจริงๆ
- ประกันทุกประเภทไม่คุ้มครองกรณีเกิดจากผู้ขับมึนเมา หรือไม่ได้เป็นคนขับที่ระบุในสัญญา